ว่าด้วย เรือนไทย

เรือนไทย มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาไม่เคลือบสี อ.อัมพวา

ในจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งมากับเรือชาวฮอลันดาเมื่อ พ.ศ. 2233 ได้กล่าวถึงเรือนไทยในสมัยอยุธยาไว้ว่าบ้านคนธรรมดานั้นเป็นบ้านกระท่อม ปลูกด้วยไม้ไผ่ พื้นปูกระดานหลังคามุงจากหยาบๆ พวกขุนนางหรือเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนักจะปลูกบ้าน วัง หรือตำหนักอยู่ต่างหาก และบ้านซึ่งปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำปลูกบนเสาสูงถึงฟาทอม (1 ฟาทอมเท่ากับ 6 ฟุต) เพื่อมิให้กระแสน้ำหน้าน้ำท่วมถึงและจากจดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดา ที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ได้กล่าวถึงเรือนไทยสมัยอยุธยาไว้ดังนี้

บ้านของชาวสยามสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ตามแบบของอินเดีย หลังคาบ้านนั้นใช้จากหรือกระเบื้องมุง เขามักยกพื้นให้สูงกว่าพื้นดินราว 3 หรือ 4 ฟุต บ้านหลังหนึ่งๆ มีประตูหนึ่งบาน หน้าต่างหลายบาน เครื่องแต่งบ้านนั้นมีน้อย มีเท่าที่จำเป็นสำหรับการหลับนอน บริโภคอาหารและการหุงต้มเท่านั้น คือ เสื่อ หมอน โตก ขัน และถ้วยชาม”

โดยสรุปเรือนไทยในสมัยอยุธยาคงเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ใต้ถุนโปร่ง มักสร้างเป็น 3 คูหา ฝาทำเป็นกรอบใส่ลูกฟัก หรือที่เรียกว่า “ปะกน” คูหาหนึ่งมีหน้าต่างขนาดเล็กและแคบเปิดเข้าภายใน บนเดือยไม้ประตูก็สร้างวิธีเดียวกัน โดยตั้งอยู่บนพรึง และมีระเบียงสร้างขนานไปตามความยาวของตัวเรือน หลังคาสูงชัน และคลุมลงมาถึงส่วนที่เป็นระเบียง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา แผ่นไม้หรือจาก ติดปั้นลมบนหัวแปที่หน้าจั่วของหลังคา และมีชานติดต่อถึงครัวและห้องน้ำ ถ้าอยู่รวมกัน 2 ครัว ก็สร้างเรือนเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง และมีอาคารอื่นๆ อีก เช่น หอกลาง ศาลาพักร้อนในสวน เป็นต้น

ส่วนบ้านของขุนนางผู้ใหญ่ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า เป็นเรือนหลังใหญ่ แต่ในเรือนหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเจ้าบ้าน ภรรยาหลวงกับบุตรธิดาเท่านั้น ส่วนภรรยาน้อยคนอื่นๆ บุตรธิดาของตน และพวกทาสจะมีเรือนหลังเล็กๆ แยกกันอยู่ต่างหาก แต่อยู่ภายในวงล้อมรั้วไม้ไผ่ร่วมกับเรือนเจ้าของบ้าน แม้ว่าจะแยกกันเป็นหลายครัวก็ตาม นอกจากนี้ ในหนังสือจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอชัวส์ กล่าวถึงเรือนรับรองแขกเมืองไว้ว่า

พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังหนึ่งซึ่งเป็นเรือนหลังแรก เรือนที่สร้างเป็นแบบเดียวกันนี้มีอยู่ 7 หลัง ปลูกไว้เคียงกันสำหรับคณะทูตพัก ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง ห้องหนึ่งจัดเป็นห้องประชุม อีกห้องหนึ่งเป็นห้องสำหรับราชทูต ห้องที่ 3 สำหรับพวกในงบทูต ส่วนข้าพเจ้านั้นพักอยู่ที่ห้องเล็กห้องหนึ่ง ซึ่งตกแต่งไว้ค่อนข้างจะสวยงามอยู่สักหน่อย สังฆราช เดอเมเตลโลโปลิส ไม่ชอบนอนเตียงทอง เขาไปเอาไม้กระดานเรือบัลลังก์มาสองสามแผ่น มาวางเรียงกันเข้าแล้วก็เลยนอนตากลมอยู่กลางหาวตลอดคืน ห้องหับทุกๆ ห้องตกแต่งไว้เหมือนๆ กัน มีเตียงจีน พรมเปอร์เชีย และฉากญี่ปุ่น …” ด้วยลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ให้รายละเอียดของเรือนรับรองแขกเมืองไว้ว่า

เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานใช้ผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสาน ลายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลียง และภายในห้องนอนเอกอัครราชทูตพิเศษนั้นยังลาดพรมเจียมทับเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ความสะอาดสะอ้านมีอยู่ในที่ทั่วไป

ส่วนชาวยุโรป ชาวจีน และแขกมัวร์ ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกตามแบบนิยมและศิลปะของชาติตน” สรุปแล้วบ้านเมืองไทยแต่เดิมอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาชนิด การสร้างบ้านจึงใช้ไม้ในการก่อสร้างเป็นส่วนมาก เรือนไทยในอดีตจึงนิยมทำปั้นลมแทนช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าจั่วก็มิได้จำหลักลวดลายเยี่ยงหน้าบัน ยกเว้นแต่โบสถ์วิหารการเปรียญเท่านั้น เป็นการทำถวายสงฆ์หรือถวายเป็นพุทธบูชา และการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนมักเป็นตำหนัก พระมหาปราสาท พระอุโบสถ และวิหาร

ลักษณะ เรือนไทยภาคกลาง

 เรือนไทย ฝาไม้ปะกนหลังคาดินเผาสุโขทัยจัมโบ้เคลือบแดง

เรือนไทยภาคกลางที่เป็นเรือนหอของครอบครัวที่ก่อสร้างลงตัวขึ้นใหม่ ประกอบด้วยเรือนนอนซึ่งมีห้องนอนและห้องโถงหนึ่งหลังเรือนมี 3 ช่วงเสา 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน อีก 1 ช่วงเสาเป็นห้องโถง มีไว้สำหรับเลี้ยงพระ รับแขก รับประทานอาหาร และพักผ่อน เมื่อครอบครัวขยายตัว ลูกชายหรือลูกสาวโตขึ้นและมีครอบครัว โดยตกลงว่าจะอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นตรงกันข้ามกับเรือนพ่อแม่ โดยมีชานเป็นตัวเชื่อม เกิดเป็นเรือนหมู่ขึ้น เรือนหมู่คือ เรือนปลูกอยู่ในที่เดียวกันมีหลายหลัง ในระยะต่อมาเมื่อมีความเจริญแล้ว อาจมีนอกชานแล่นกลางติดต่อกันได้ตลอด เรือนเหล่านี้หลังหนึ่งเป็นเรือนเดิมซึ่งพ่อแม่อยู่ นอกนั้นเป็นเรือนหลังย่อมกว่า เป็นที่อยู่ของบุตรสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ส่วนจำนวนเรือนว่ามีกี่หลังนั้น ก็สุดแล้วแต่จำนวนบุตรสาวที่มีเรือนไปแล้ว โดยจะปลูกเรียงกันถัดจากเดิมออกมาทางด้านหน้าทั้งสองข้าง เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว

ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” ตามปกติมักกั้นฝาทั้งสามด้าน เปิดโล่งไว้แต่ด้านหน้า สำหรับเป็นที่รับแขกเป็นทำนองเดียวกับเรือน “พะไล” ถ้าเรือนหมู่นี้เป็นของคหบดี มักมีเรือนโถงปลูกขึ้นหลังหนึ่งที่ตรงกลางชาน สำหรับเอาไว้นั่งเล่นหรือใช้เป็นสถานที่เวลามีงาน เช่น สวดมนต์เลี้ยงพระ

สำหรับหอนั่งไม่จำเป็นต้องปลูกอยู่กลางชานเสมอไป จะใช้เรือนที่ยังไม่มีคนอยู่และเปิดเป็นห้องโถงใช้เป็นหอนั่งก็ได้ นอกจากนี้อาจมีเรือนหลังเล็กๆ สำหรับเลี้ยงนก ซึ่งปลูกไว้ตรงไหนก็ได้ตามความเหมาะสมเรือนแบบนี้เรียกว่า “หอนก”

ส่วนด้านหลังของหอนั่งมักปลูกเป็นร้านต้นไม้ส่วนใหญ่นิยมปลูกไม้เถาที่ ดอกมีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปเรือนไทยภาคกลางนิยมปลูกเป็น 3 ห้องนอน และไม่นิยมปลูกเรือน 4 ห้อง เพราะถือว่าเรือนอยู่สี่ห้องได้เดือดร้อนรำคาญ ถ้าเป็นคหบดีนิยมปลูกเรือนตามตะวันเป็นเรือนแฝด มีชานบ้านแล่นกลาง หลังหนึ่งเป็นเรือนพักอาศัยมี 3 ห้อง เป็นห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องพระ อีกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นก็ทำแบบเดียวกันให้เป็นที่อยู่ของบิดามารดาหรือปู่ ย่าตายาย กลางชานที่แล่นกลางเรือนนิยมสร้างเป็นเรือนโปร่ง บนนอกชานนั้นครึ่งหนึ่งเรียกกันว่า “หอนั่งหรือหอกลาง” ใช้เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนยามเสร็จธุระการงานในยามเย็นหรือยามค่ำคืนก่อน จะเข้านอน ส่วนเรือนครัวจะเชื่อมต่อกับเรือนนอนด้วยชาน ชายคาของเรือนทำรางไม้รองน้ำฝน ปลายรางมีตุ่มตั้งไว้ 1 ลูก เรือนครัวนี้มีหน้าต่างด้านข้างและด้านหน้าเหนือเตาไฟ เพื่อเปิดระบายควันไฟยามทำครัว มิให้ควันไฟจับรมควันจนดำ
 

องค์ประกอบต่างๆ ของ เรือนไทยภาคกลาง มีดังนี้

  • งัว ไม้ท่อนกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร ใช้ไม้ทองหลางวางขวางกับปลายเสา ทำหน้าที่เป็นหมอนรองรับน้ำหนักจากกงพัดถ่ายลงดิน ลักษณะการทำงานเหมือนกับฐานรากของอาคารในปัจจุบัน ซึ่งมีไว้เพื่อกันเรือนทรุด
  • กงพัด ไม้เหลี่ยมขนาด 5X15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร สอดในรูซึ่งเจาะที่โคนเสาเรือน หรือจะใช้คู่ตีขนาบขวางกับเสา โดยบากเสาให้เป็นบ่ารองรับยึดด้วยสลักไม้แสม เส้นผ่าศูนย์กลางสลักประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายทั้งสองของกงวางอยู่บนงัวทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักจากเสาลงสู่งัว
  • แระ (ระแนะ) แผ่นไม้กลมแบนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-50 เซนติเมตร หนาประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใช้วางก้นหลุมทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักจากเสาสู่พื้นดิน กันเรือนทรุด นิยมใช้ไม้ทองหลางแระและกงพัด-งัวทำหน้าที่เป็นฐานรากอย่างเดียวกัน ถ้าใช้กงพัด-งัวก็ไม่ใช้แระ ซึ่งกงพัด-งัวมักใช้ในบริเวณที่ลุ่มริมน้ำ เพราะรับน้ำหนักได้ดีกว่าแระ แต่การใช้แระสะดวกกว่ากงพัด-งัว
  • เสาเรือน ไม้ท่อนกลมยาวตลอดลำต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนประมาณ 25 เซนติเมตร ที่ปลายประมาณ 20 เซนติเมตร ใช้ไม้เต็ง รัง มะค่า หรือแดง การคัดเลือกเสาต่างๆ ที่จะนำมาเป็นเสาเรือนต้องเป็นเสาที่ดี มีตาเสาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องถูกโฉลก การเจาะรูเสาเพื่อใส่รอดหรือใส่เต้าก็ต้องมีวิธีที่ถูกต้องในการวัด เจ้าของเรือนจะได้อยู่เย็นเป็นสุข

 

เสาเรือนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • เสาหมอ คือเสาที่ใช้รองรับรอด และราเฉพาะในบริเวณพื้นที่นั้นทรุดหรือผุ มีขนาดเล็กกว่า เสาจริงเล็กน้อย และช่วงสั้น เสาหม้อสูงจากพื้นดินถึงระดับใต้พื้นดิน
  • เสานางเรียง คือเสาที่รองรับหลังคากันสาดที่ยื่นยาวมาก โดยจะอยู่ทางด้านข้างของเสาเรือน เสานางเรียงนี้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับไม้ค้ำยัน
  • เสาเอก เป็นเสาต้นแรกของเรือนที่จะยกขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีทางไสยศาสตร์ มีการกำหนดฤกษ์ยาม ทิศทาง ตามแต่หมอจะเป็นผู้ดูให้
  • เสาโท คือเสาเรือนที่ยกขึ้นเป็นอันดับที่สองต่อจากเสาเอก แต่การยกต้องเวียนไปทางขวามือเสมอ
  • เสาตรี เสาพล เป็นเสาทั่วไปที่นับเวียนขวาเลยเสาเอกและเสาโทไปแล้ว
  • เสาตอม่อ คือเสาจากใต้ระดับพื้นดินถึงระดับพื้นชาน เป็นเสาที่ไม่สูงเลยจากพื้นขึ้นไป
  • รอด เป็นไม้สี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20-25 เซนติเมตร นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง เป็นต้น ทำหน้าที่รองรับพื้น นั่งอยู่บนเสาที่เจาะทะลุกึ่งกลางทั้งสองด้าน และยื่นเลยเสาออกไปข้างละประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในปัจจุบันเรียกส่วนนี้ของโครงสร้างเรือนว่า “คาน”
  • รา ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20-25 เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง ทำหน้าที่เช่นเดียวกับรอด แต่แขวนอยู่กับพรึงซึ่งช่วยให้พื้นแข็งแรง ไม่ตกท้องช้าง
  • ตง เรือนบางหลังหาไม้พื้นยาวไม่ได้ ต้องใช้พื้นสั้นขวางกับตัวเรือน จำเป็นต้องมีตงมารองรับ ตงคือไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 4X5 เซนติเมตร ระยะห่างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง มะค่า หรือแดง วางพาดระหว่างช่วงรอด ถ้าเรือนปูพื้นขวางและมีตงมักไม่ใช้รา
  • พรึง ไม้สักสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5X20 เซนติเมตร ทำหน้าที่รัดเสาส่วนที่ติดกับพื้นทั้งสี่ด้านให้อยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดและ ยังทำหน้าที่รับฝาตลอดทุกด้าน พรึงติดอยู่กับเสาด้วยตะปูจีน ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากรา
  • พื้น ไม้สักเหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 5X40-45-50 เซนติเมตร เรือนไทยนิยมไม้พื้นกว้างมาก ปูบนตงหรือบนรอด เพื่อเป็นที่พักผ่อนอยู่อาศัย ระหว่างแผ่นต่อแผ่นของพื้นมีเดือยไม้แสมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ตอกยึดพื้น ระยะห่างเดือยประมาณ 1-2 เมตร บางคนใช้เดือยแบนขนาด 1X2.5 เซนติเมตร เรียกว่า “ลิ้นกระบือ” สำหรับพื้นที่ใช้ปูนอกชานนั้น จะปูเว้นร่องให้น้ำตกเพื่อกันพื้นผุ ร่องพื้นชานนี้มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร
  • ฝักมะขาม ไม้ขนาด 3.5X3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร รูปร่างโค้งงอคล้ายฝักมะขามตอกติดกับเสาใต้พื้นเรือนทำหน้าที่รองรับแผ่น พื้นที่ชนกับเสาและขาดจากกัน ไม่มีส่วนของรอดรองรับจึงใช้ฝักมะขามรับพื้นแผ่นนี้แทนรอด
  • ฝา เป็นผืนผนังที่ประกอบกันเข้าเป็นแผ่นจากชิ้นส่วนเล็กๆ ของไม้จากหรือไม้ใบบางชนิด โดยมีโครงขอบฝาเป็นไม้จริง หรือไม้ไผ่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเปลือกหุ้มที่ว่างภายในห้อง ทำให้เกิดขอบเขต ฝาส่วนด้านสกัด (ขื่อ) หัวท้าย เรียกฝาทั้งแผงว่า “ฝาอุดหน้ากลอง” หรือ “ฝาหุ้มกลอง” ส่วนฝากั้นห้องภายในระหว่างห้องนอกกับห้องโถงเรียกว่า “ฝาประจันห้อง”
  • กันสาด เป็นส่วนหนึ่งของหลังคาที่ยื่นออกไปโดยรอบ ลดระดับจากหลังคาลงมา แต่ทำมุมน้อยกว่าหลังคา กันสาดประกอบไปด้วยจันทันกันสาด แปกลอน และวัสดุมุง ปลายจันทันข้างหนึ่งตอกยึดอยู่กับเต้าด้วยสลักไม้ (ค้างคาว) อีกข้างหนึ่งรองรับด้วยค้ำยันหรือเสานางเรียง กันสาดนี้ทำหน้าที่ป้องกันแดดส่องและฝนสาด
  • เต้า ไม้เหลี่ยมขนาด 5X10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร โดยสอดทะลุเสาห่างจากปลายเสา 50-60 เซนติเมตร ทำหน้าที่ยื่นจากเสาออกไปเพื่อรับน้ำหนักเชิงชายและปลายของหลังคาและเป็นที่ ยึดเกาะของจันทันกันสาด เต้าที่อยู่ตรงมุมเรือนมีอยู่ 2 ตัวเรียกว่า “เต้ารุม” เต้าที่ไม่อยู่ตรงมุมและมีตัวเดียวเรียกว่า “เต้าราย” เต้าจะมีปลายข้างหนึ่งเล็กและโคนใหญ่ เมื่อสอดเต้าผ่านเสาที่เจาะรูพอดีกับเต้าเสาและเต้าระดับแน่นพอดีระยะที่ ต้องการ
  • สลัก-เดือย เป็นไม้สี่เหลี่ยมสอดทะลุระหว่างโคนเต้ากับจันทัน กันสาด ทำหน้าที่ยึดเกาะเต้ากับจันทันกันสาดให้ติดกัน มีขนาด 1.5-2X5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร สลักที่ยื่นเลยเต้าขึ้นไปเสียบด้วยเดือยไม้ขนาด 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10X12 เซนติเมตร
  • ค้างคาว เป็นไม้เหลี่ยมกว้างประมาณ 8X10 เซนติเมตร เจาะช่องกลางกว้างกว่าขนาดของจันทันกันสาดและเต้าเล็กน้อย เพื่อให้องค์ประกอบทั้งสองสามารถสอดผ่านค้างคาวได้ แล้วใช้ยึดด้วยเดือยไม้ขนาด 2 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร ทำหน้าที่เหมือนสลักเดือย
  • หัวเทียน เป็นส่วนหนึ่งของเสาอยู่ตรงปลาย ควั่นเป็นแท่งกลมยาวประมาณ 10X11 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดปลายขื่อให้ติดกับเสา โดยเจาะแผ่นขื่อเป็นรูกว้างกว่าหัวเทียนพอสวมเข้าได้ เพื่อช่วยยึดหัวเสาทั้งสองข้าง
  • ขื่อ เป็นไม้สักแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 5X20 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหัวเสาทั้งสองข้างเข้าหากัน เจาะรูที่ปลายทั้งสองของขื่อให้กว้างกว่าหัวเทียนเล็กน้อย และสวมขื่อเข้ากับหัวเทียน ขื่อมี 2 ชนิด ได้แก่ ขื่ออยู่กลางห้องมีขนาดเท่ากับหัวเสา และขื่ออยู่หัวท้ายของเรือนติดกับฝาหุ้มกลอง มีขนาดใหญ่กว่าหัวเสาเท่ากับ 5X25 เซนติเมตร ปลายบนด้านนอกของขื่อนี้ปาดเฉียงลงเพื่อรับกลอนปีกนก เรียกขื่อนี้ว่า “ขื่อเพล่” ซึ่งมีหน้าที่ช่วยหยุดหรือจับฝาอุดหน้ากลองด้านบน ซึ่งฝาด้านยาวนั้นแปหัวเสาทำหน้าที่ช่วยยึดอยู่ 2
  • ตั้ง มี 2 ชนิดคือ 1. ไม้เหลี่ยมแบนขนาดโคน 5X20 เซนติเมตร ปลายมีขนาด 5X12 เซนติเมตร ทำหน้าที่ยึดอกไก่กับขื่อปลายล่างของดั้งติดกับขื่อโดยเข้าเดือยเข็น ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ตั้งแขวน” 2. ไม้กลมยาวคล้ายเสา เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางรอดยาวถึงขื่อ เลยขื่อเป็นชนิดแบน เรียกส่วนกลมของดั้งนี้ว่า “เสาดั้ง”
  • อกไก่ ไม้สักเหลี่ยมรูปข้าวหลามตัด ยาวตลอดเรือนและยื่นหัวท้ายอีกข้างละประมาณ 60-75 เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้งและจันทัน ตั้งอยู่บนยอดสุดของหลังคาและยังให้หลบหลังคานั่งทับ
  • จันทัน ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 5x25 เซนติเมตร แต่งรูปอ่อนช้อยตามแบบ อยู่ระหว่างสองข้างของสามเหลี่ยมโครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักของหลังคาที่ถ่ายทอดมายังกลอน แป และจันทัน ตามลำดับ จันทันนี้มีอยู่เฉพาะส่วนของห้องที่ไม่มีหน้าจั่ว และใช้กับดั้งแขวนเท่านั้น ส่วนห้องที่มีหน้าจั่วให้แผงหน้าจั่วรับน้ำหนักหลังคาแทนจันทัน
  • แป เฉพาะเรือนไทยมี 2 ชนิด คือ 1. แปหัวเสา ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 10 x 10 เซนติเมตร ยาวตลอดหลังคา ทำหน้าที่ยึดหัวเสาระหว่างห้องต่อห้อง โดยการวางทับขื่อรับน้ำหนักจากกลอน แปหัวเสายังทำหน้าที่ยึดและรับน้ำหนักของแผงหน้าจั่ว ช่วยเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนด้านยาวของเรือน 2. แปลาน ไม้เหลี่ยม 5 X 10 เซนติเมตร พาดอยู่ระหว่างจันทันกับแผงหน้าจั่วยาวตลอดเรือนเท่ากับอกไก่ทำหน้าที่รับ น้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน
  • กลอน ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 1.5 X 7.5 เซนติเมตร วางขวางพาดอยู่กับแป ระยะห่างระหว่างกลอนประมาณ 40 เซนติเมตร กลอนมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. กลอนสำหรับหลังคาจาก เป็นกลอนเรียบเจาะรูข้างหนึ่ง ระยะห่างของรู ประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับใช้ตอกร้อยมัดกับจาก ติดกับแปด้วยการตอกสลักไม้แสม ปลายด้านบนเข้าเดือยหางเหยี่ยวติดกับอกไก่ ปลายด้านล่างตอกติดกับสะพานหนู 2. กลอนสำหรับมุมหลังคากระเบื้องเรียกว่า “กลอนขอ” เป็นรูปหยักบากเพื่อให้ระแนงวางทับ ระยะห่างของช่วงบากประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีทั้งแบบบากทุกช่วงกับแบบบาก 1 ช่วง เว้น 1 ช่วง สลับกันไป กลอนขอนี้ตอกติดกับแปโดยตะปูเหลี่ยมแบนแต่ไม่ตอกทุกช่วง ตอกเป็นจังหวะห่างๆ
  • ระแนง ไม้เหลี่ยมขนาด 2.5 X 2.5 เซนติเมตร วางตามยาวของหลังคา ขนานกับอกไก่ใช้สำหรับหลังคาเรือนที่มุงด้วยกระเบื้องระยะห่างของระแนง ประมาณ 10-12 เซนติเมตรวางบนกลอนขอ ทำหน้าที่รองรับกระเบื้อง และถ่ายน้ำหนักลงยังกลอน ยึดติดกับกลอนโดยใช้ไม้แสมเป็นสลักเดือย
  • เชิงชาย ไม้เหลี่ยมขนาด 5 X 20 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ปลายเต้า ยาวรอบชายคา ทำหน้าที่รับตะพานหนู และรับน้ำหนักทั้งหมดจากปลายกลอน
  • ตะพานหนู ไม้เหลี่ยมแบนขนาด 1.5X7.5 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านบนของเชิงชาย และยึดปลายกลอน ใช้ช่วยรับส่วนยื่นของกระเบื้อง หรือจากให้พ้นแนวของเชิงชาย ทำให้น้ำฝนไหลพุ่งออกไปด้านนอก จึงไม่ทำให้เชิงชายผุกร่อน
  • ปั้นลม คือ แผ่นไม้แบนขนาดหนา 2.5-3 เซนติเมตร ติดอยู่ปลายแปหัวเสา แปลาน อกไก่ มีหน้าที่ปิดชายคาด้านสกัดหัวและท้ายกันลมตีจากหรือกระเบื้องส่วนล่างของ ปั้นลม แต่งรูปเป็นแบบตัวเหงาเรียกว่า “เหงาปั้นลม” หรือแต่งเป็นรูปหางปลา การติดใช้ตะปูตอกจากใต้แปทะลุไปติดปั้นลม
  • หน้าจั่ว แผงไม้รูปสามเหลี่ยม สร้างขึ้นจากองค์ประกอบของชิ้นไม้ในลักษณะต่างๆ ใช้ประกบปิดตรงส่วนที่เป็นโพรงของหลังคาทางด้านสกัดหรือด้านชื่อของเรือน เพื่อป้องกันลม แดด และฝน มีหลายลักษณะดังนี้
    • จั่วลูกฟัก หรือจั่วพรหมพักตร์ แบ่งหน้าจั่วโดยมีแนวนอนและแนวตั้งสลับกัน คล้ายฝาปะกน แต่ขนาดใหญ่กว่าและขยายไปตามแนวนอน
    • จั่วรูปพระอาทิตย์ มีรูปคล้ายพระอาทิตย์ครึ่งดวง เส้นรัศมีพระอาทิตย์ทำด้วยไม้แบน และเว้นช่องให้อากาศถ่ายเท นิยมใช้กับจั่วเรือนครัวไฟ
    • จั่วใบปรือ ตัวแผงประกอบด้วยแผ่นไม้ขนาดเล็กเรียงซ้อนทางแนวนอน นิยมใช้กับเรือนนอนเรือนครัวไฟ ถ้าเป็นเรือนครัวไฟส่วนบนมักเว้นช่องให้อากาศถ่ายเทได้
  • หลังคา เป็นชิ้นส่วนที่เป็นผืน ทำหน้าที่กันแดดและบังฝนให้กับตัวเรือน ใช้วัสดุหลายอย่างประกอบกันเข้า ได้แก่ กระเบื้อง จาก แฝก และหญ้าคา วัสดุเหล่านี้หาได้ง่ายตามท้องถิ่นต่างๆ ถ้ามุงด้วยกระเบื้องจะดูดซึมความร้อนมากกว่ามุงด้วยจากหรือแฝก สำหรับเรือนที่มุงด้วยกระเบื้อง จาก แฝก ส่วนบนสุดของหลังคาคือ ส่วนสันอกไก่จะมีรอยร่อง จำเป็นต้องมีชื้นส่วนปิดรอยนี้กันน้ำฝนรั่ว ถ้ามุงด้วยกระเบื้องใช้กระเบื้องครอบเป็นส่วนปิด หากมุงด้วยจากหรือแฝก ใช้หลบจากหรือหลบแฝกเป็นส่วนครอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนรั่วไหลเข้ามา

 

คลิกเลือก กระเบื้องหลังคาเรือนไทย บ้านทรงไทย  แบบต่างๆ

กระเบื้องสุโขทัย ใบโพธิ์  กระเบื้องสุโขทัยปลายแหลม  กระเบื้องหลังคาเรือนไทย แบบกระเบื้องสุโขทัยจัมโบ้

  • ไขรา ส่วนของหลังคาที่ยื่นจากฝาหรือจากหน้าจั่วออกไป หากไขราอยู่บริเวณกันสาดยื่นจากฝาเรียกว่า “ไขรากันสาด” หากตรงหน้าจั่วเรียกว่า “ไขราหน้าจั่ว” หรืออยู่ตรงปีกนกเรียกว่า “ไขราปีกนก”
  • คอสอง ส่วนบนของฝา ระยะต่ำจากแปหัวเสาหรือชื่อลงมาประมาณ 50 เซนติเมตรเป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยม โดยรอบของเรือน
  • ร่องตีนช้าง ส่วนล่างของฝาระหว่างบนพรึงถึงกรอบเช็ดหน้า (ใต้หน้าต่าง) เป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยมคล้ายคอสอง ระยะของร่องตีนช้างประมาณ 44 เซนติเมตร มีรอบตัวเรือน 3
  • ช่องแมวรอด ช่องระหว่างห้องนอนกับพื้นระเบียง หรือ ช่องว่างระหว่างพื้นระเบียงกับพื้นชาน ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 40 เซนติเมตร มีความยาวตลอดตัวเรือน เพื่อเป็นที่ให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นบนเรือน และเป็นที่ทำให้ลมภายในไหลผ่านช่องนี้ได้ โดยใช้ไม้ขนาด 1.5 X 7.5 เซนติเมตร ตีอันเว้นอันปิดช่อง กันคนและสิ่งของตก
  • ประตูห้อง เป็นทางเข้าออกระหว่างห้องนอน ห้องครัวกับระเบียง ประกอบไปด้วยกรอบเช็ดหน้า บานประตูและเดือย ธรณีประตูดาลคู่ ประตูนี้ส่วนล่างกว้างและส่วนบนขอบเล็กกว่า
  • ประตูรั้วชาน เป็นทางเข้าออกระหว่างชานกับบริเวณบ้านโดยมีบันไดเป็นตัวกลาง ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนประตูห้อง แต่มีซุ้มหลังคาข้างบนกันฝนสาดมาถูกบานประตู และเน้นทางขึ้นให้มีความสำคัญและน่าดูยิ่งขึ้น
  • หน้าต่าง เป็นส่วนประกอบของฝาเรือนที่ทำติดเป็นส่วนเดียวกัน แต่เป็นช่องเจาะให้แสงสว่าง อากาศ ลมผ่านเข้าได้ รวมทั้งเป็นช่องให้สายตาของผู้อยู่ภายในห้องมองออกไปภายนอก ช่องนี้สามารถควบคุมการเปิดปิดได้โดยตัวบานซึ่งทั้งหมดประกอบไปด้วย
  • กรอบเช็ดหน้า คือ วงขอบรอบนอกของบาน (วงกบ) เป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาด 3.5 X 12.5 เซนติเมตร วางประกอบตามส่วนแบนเข้ามุม 45 องศา เซาะร่องบัวประดับ ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน
  • ตัวบาน ใช้แผ่นไม้หนาประมาณ 3 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 แผ่นต่อ 1บาน มุมสุดบนและล่างมีเดือยเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร (แบบเดือยไม่ทะลุ) และยาว 6 เซนติเมตร (แบบเดือยทะลุ) สอดใส่ในรูของธรณีหน้าต่างแทนบานพับ
  • ธรณีหน้าต่าง ไม้เหลี่ยมขนาดหนา 3-5 X 10 เซนติเมตร ยาวตลอดความกว้างของหน้าต่างและเลยออกไปข้างละ 10 เซนติเมตร ติดกับผ้าด้วยตะปูจีน หรือลิ่มไม้แสม
  • หย่อง เป็นแผงไม้ที่ติดอยู่ตรงส่วนล่างของช่องหน้าต่าง แกะเป็นลวดลายหรือฉลุโปร่ง หนาประมาณ 2 เซนติเมตร สูง 20-25 เซนติเมตร
  • อกเลา ไม้เหลี่ยมสันขนาด 3 X 5 เซนติเมตร (เฉพาะหน้าต่าง) ยาวตลอดบาน ติดอยู่กับบาน ติดอยู่กับบานหน้าต่างบานหนึ่ง เพื่อบังช่องหน้าต่างทั้งสอง
  • ดาลเดี่ยว ทำหน้าที่เป็นกลอนติดอยู่ส่วนกลางของบานหน้าต่าง เป็นไม้เหลี่ยมขนาด 3 X 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีไม้รัดทาบกับตัวบานข้างละอัน
  • กบ เป็นกลอนของหน้าต่าง แต่ติดอยู่ส่วนล่าง เป็นไม้แบนขนาดหนา 1 X 5 เซนติเมตร สูงประมาณ 10 เซนติเมตร เจาะธรณีหน้าต่างให้เป็นร่อง เมื่อปิดบานสนิทแล้วจึงใส่กบลงไป
  • กระได ส่วนประกอบของไม้มีลูกขั้น (ตามนอน) กับแม่กระได (ตามตั้ง) ใช้สำหรับขึ้นจากพื้นดินไปสู่ชาน กระไดแบบเดิมวางพาดกับพื้นและขอบพรึง ทำชักขึ้นเก็บบนนอกชานได้เมื่อเวลาค่ำคืน เพราะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือขโมย ส่วนประกอบใช้ไม้จริงหรือไม้ไผ่ ลูกขั้นกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร หรือไม้เหลี่ยมลูกขั้น 3.5-5 X 20 เซนติเมตร เจาะทะลุสอดเข้าเป็นขั้นๆ ระยะห่างพอก้าวขึ้นได้สะดวกกว่าแบบเก่า มีลักษณะเป็นแผ่นไม้แบนขนาด 3.5-5 X 20 เซนติเมตร แม่กระไดขนาด 5 X 20 เซนติเมตร

 

พระยาอนุมานราชธนกล่าวถึงประเพณีการปลูกเรือนสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยว่า จะปลูกสร้างกันอย่างไรแล้วแต่ภูมิประเทศ ท้องถิ่นดินฟ้าอากาศ วัสดุสำหรับปลูกสร้าง ความเป็นอยู่และคติความเชื่อ ซึ่งเป็นเครื่องบังคับให้เรือนไทยสมัยเก่ามักปลูกเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นมีใต้ถุนสูง ด้านข้างทางหนึ่งมีระเบียง

คนไทยแต่โบราณมีอาชีพส่วนใหญ่อยู่กับการเพาะปลูก จึงชอบสร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อใช้น้ำทำ ประโยชน์ แก่การคลองชีพได้สะดวก ถึงฤดูฝนฝนตกหนักน้ำนองพื้นดิน ถึงหน้าน้ำท่วมล้นตลิ่ง พื้นที่สำหรับบ้านจึงต้องยกสูง หรือเลือกหาเพื่อหนีน้ำ ส่วนเรือนที่ปลูกก็ต้องยกพื้นเรือนให้สูง เพื่อให้ประโยชน์จากใต้ถุนเป็นที่ประกอบกิจการประจำวัน เช่น ปั่นฝ้าย ทอหูก เป็นต้น แม้ในที่น้ำท่วมไม่ถึง ราษฎรก็ยังปลูกเรือนยกพื้นสูงอยู่เพราะในที่เช่นนั้นมักใกล้ป่าเขา มีคนอยู่ห่างๆกัน มีสัตว์ มีสัตว์ป่าสัตว์ร้ายคอยรบกวนการปลูกเรือนจึงต้องยกพื้นสูงเพื่อกันภัย อันตรายเวลาค่ำคืน อีกประการหนึ่งแผ่นดินไทยในอดีตอุดมไปด้วยป่าไม้ เรือนราษฎรจึงปลูกสร้างด้วยไม้ เพราะหาไม้ใช้ได้ง่ายสะดวกกว่าหาวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ คนไทยนับถือหัวเป็นของสำคัญ เพราะเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของมิ่งขวัญประจำตัวคน จึงไม่ยอมให้ใครกล้ำกรายหรืออยู่เหนือหัว ถือว่าเป็นอัปรีย์จัญไรที่จะมาปลูกเรือนมากกว่าชั้นเดียว แม้ต่อมาจะปลูกสร้างเรือนด้วยการก่ออิฐถือปูนก็ยังคงสร้างเป็นเรือนชั้น เดียวตามคติเดิม

การปลูกเรือนแต่เดิมมีคติถือกันว่า ถ้าปลูกเรือนขวางตะวันหรือหันข้างเรือนไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกนั้น ไม่ดี ผู้อยู่อาศัยจะไม่มีความสุข มักมีเหตุต้องเสียตาเพราะไปขวางหน้าดวงตะวัน แต่ถ้าปลูกเรือนตามตะวันหรือหันข้างเรือนไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ จะเป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข หากเนื้อที่บ้านคับแคบหรือมีเหตุผลอบย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้ต้องปลูกเรือนโดยหันข้างเรือนไปตามดวงตะวัน ก็ให้ปลูกเรือนเชียงตะวันไว้คือ อย่าหันข้างเรือนตรงดวงตะวันนักเป็นอันใช้ได้ ข้อห้ามไม่ให้ปลูกเรือนขวางตะวันดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากคติความเชื่อถือที่ว่า ทิศตะวันตกเป็นทิศที่ไม่ดีเพราะเป็นทิศที่พระอาทิตย์ตกหรือลับดวงไป คนไทยจึงถือว่าตะวันตกเป็นทิศของคนตาย ถ้าจะวางศพประกอบกิจพิธีตามลัทธิเพื่อฝังเพื่อเผาต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวัน ตกเสมอ ฉะนั้นการนอนของคนเป็นจึงถือเป็นคติสืบต่อกันมา ไม่ให้หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก เพราะจะเป็นคนตาย แม้ทุกวันนี้คนโดยมากก็ยังยึดถือปฏิบัติกันอยู่

 

โรงงาน กระเบื้องดินเผาไทยแสงบรรพต ชลบุรี จำหน่ายกระเบื้องหลังคาดินเผา พื้น ผนัง ลูกกรงปูน-ดินเผา-เซรามิก อิฐทนไฟ อิฐประดับ ปูนทนไฟ กระเบื้องว่าว กระเบื้องเกล็ดปลา ฯลฯ สำหรับหลังคาวัด หลังคาจีน หลังคาญี่ปุ่น หลังคาโบสถ์ เจ้าของผลิตเอง ขายเอง ราคาโรงงาน ประสบการณ์กว่า 50 ปี

 

 

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โรงงานกระเบื้องดินเผาไทยแสงบรรพต

โทร: 0898342552 อีเมล: sale.bunpot@gmail.com

Facebook: https://www.facebook.com/th.tile

      

 

ที่มา  http://www.baanjomyut.com/library

อัพเดทภาพจาก https://www.facebook.com/th.tile/

โดย กระเบื้องดินเผาไทย แสงบรรพต  www.th-tile.com

Visitors: 929,758